ประวัติศาสตร์ไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
(รัชกาลที่ 1-รัชกาลที่ 3)
--------------------------------------------------------------------------------
เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกปราบการจลาจลที่เกิดขึ้นในปลายรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จนบ้านเมืองอยู่ในความสงบเรียบร้อย พวกขุนนางข้าราชการและราษฎรทั้งหลายจึงเห็นพ้องต้องกันในการอัญเชิญสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์สมบัติในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2325 พระนามที่ปรากฏในพระสุพรรณบัฏ คือ “สมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดีฯ” ส่วนพระนาม “พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก”นั้น เป็นพระนามที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถวาย นับว่าพระองค์เป็นปฐมกษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์แรกแห่งราชวงศ์จักรี มีพระนามเดิมว่า ทองด้วง ประสูติเมื่อวันพุธแรม 4 ค่ำ เดือน 4 ปีมะโรง พ.ศ. 2279 เป็นบุตรคนที่ 4 ของหลวงพินิจอักษร ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) และเจ้าแม่วัดดุสิต ซึ่งเป็นพระนมในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
เมื่อพระชนมายุได้ 21 ปี ทรงผนวชอยู่ที่วัดมหาทะลาย เมื่อลาสิกขาบทออกมาได้เข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กของพระเจ้าอุทุมพร เมื่อพระชนมายุได้ 24 พรรษา ทรงดำรงตำแหน่งเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี ต่อมาได้แต่งงานกับนางสาวนาค พระชนมายุได้ 32 พรรษา ได้เข้ามารับราชการในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงดำรงตำแหน่งเป็นพระราชวรินทร์ เจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา ต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นพระยาอภัยรณฤทธิ์ เป็นพระยายามราชและเป็นเจ้าพระยาจักรี
ใน พ.ศ. 2320 ได้รับความดีความชอบที่ไปปราบหัวเมืองลาวได้ จึงได้รับพระราชทานตำแหน่งสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และใน พ.ศ.2525 ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดีฯ หรือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงครองราชย์อยู่ 28 ปี เสด็จสวรรคตด้วยพระโรคชรา เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2352 มีพระชนมายุได้ 74 พรรษา ถึงสมัยรัชกาลที่ 9 ทรงได้รับพระราชสมัญญาเป็น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ขณะเมื่อพระองค์ได้สถาปนาขึ้นเป็นองค์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ช่วงระยะเวลานั้นได้สืบเนื่องมาจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 และการรบพุ่งกันมากในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช บ้านเมืองทรุดโทรมเสียหายมาก ดังนั้นพระองค์จึงต้องฟื้นฟูบ้านเมืองโดยมีจุดมุ่งหมายที่จะฟื้นฟูอำนาจของอาณาจักรไทยขึ้นมาใหม่ ทั้งทางการเมืองและวัฒนธรรม โดยสืบทอดงานต่อจากสมัยของพระเจ้ากรุงธนบุรีซึ่งมีระยะเวลาค่อนข้างสั้น เช่น การฟื้นฟูอำนาจทางการเมือง ได้แก่ สถาปนาศูนย์กลางอันมั่นคงของอาณาจักร เช่น การสร้างเมืองหลวงขึ้นใหม่ การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในอาณาจักร การทำศึกสงครามป้องกันเอกราชของประเทศ การขยายอำนาจและการรักษาอิทธิพลของไทยในเขตประเทศราช การฟื้นฟูความเจริญวัฒนธรรม เช่น ขนบธรรมเนียมราชประเพณีต่างๆ การฟื้นฟูศาสนา การฟื้นฟูระบอบการปกครองและกฎหมาย การฟื้นฟูศิลปกรรมต่างๆ ซึ่งรัชกาลที่ 1 ทรงเป็นผู้วางรากฐานการฟื้นฟูเหล่านี้ไว้ และรัชกาลที่ 2 และ 3 ทรงประสานงานต่อมา สำหรับนโยบายการรักษาเอกราชความมั่นคงประเทศนั้น นอกจากจะต้องทำสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านที่ต้องการรุกรานไทยแล้ว ไทยยังต้องดำเนินนโยบายทางการทูตอย่างระมัดระวังกับประเทศมหาอำนาจตะวันตกที่เริ่มเข้ามาติดต่ออย่างใกล้ชิดกับไทยด้วย
การสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี
หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปราบจลาจลภายในกรุงธนบุรีและสร้างความมั่นคงภายในประเทศแล้ว พระองค์ทรงย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตกมายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาและตั้งชื่อใหม่ว่ากรุงเทพฯ ทั้งนี้เนื่องด้วยสาเหตุหลายประการ คือ
1. พระราชวังเดิมของกรุงธนบุรีคับแคบ มีวัดขนาบอยู่ทั้ง 2 ด้าน คือ วัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม) และวัดท้ายตลาด (วัดโมลีโลกยาราม) ทำให้ไม่สามารถขยายอาณาเขตของพระราชวังให้กว้างขวางขึ้นได้
2. พระองค์ไม่ทรงเห็นด้วยที่จะให้พระนครแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยมีแม่น้ำเจ้าพระยาผ่ากลางเป็นเสมือนเมืองอกแตก ดังเช่น เมืองพิษณุโลก สุพรรณบุรี เพราะหากข้าศึกยกทัพมาตามลำน้ำ ก็สามารถบุกตีใจกลางเมืองหลวงได้ ทำให้ยากแก่การป้องกันพระนคร ครั้นจะสร้างป้อมปราการทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำ ก็จะเป็นการสิ้นเปลืองเงินทองมาก ทำให้ยากแก่การเคลื่อนพลจากฝั่งหนึ่งไปยังอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งเป็นการยากลำบากมาก ดังนั้นพระองค์จึงย้ายพระนครมาอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาเพียงแห่งเดียว โดยมีแม่น้ำเป็นคูเมืองทางด้านตะวันตก และใต้ ส่วนทางด้านตะวันออกและทางด้านเหนือ โปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองขึ้นเพื่อเป็นคูเมืองป้องกันพระนคร
3. พื้นที่ทางฝั่งตะวันออกเป็นที่ราบลุ่ม สามารถขยายเมืองให้กว้างขวางออกไปได้เรื่อยๆ ตรงบริเวณที่ตั้งพระนครพื้นที่เป็นแหลม โดยมีแม่น้ำเป็นกำแพงกั้นอยู่เกือบครึ่งเมือง
4. ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่เป็นท้องคุ้ง น้ำกัดเซาะตลิ่งพังทลายอยู่เสมอ จึงไม่เหมาะแก่การสร้างอาคารหรือถาวรวัตถุใดๆ ไว้ริมฝั่งแม่น้ำ
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมีรับสั่งให้สร้างเมืองใหม่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่บริเวณหัวโค้งแม่น้ำเจ้าพระยา คือ บริเวณพระบรมมหาราชวังในปัจจุบัน พระราชทานนามเมืองใหม่นี้ว่า “กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุทธนา มหาดิลกภพนพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์ มหาสถานอมรพิมาน อวตารสถิต สักกทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์” ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงเปลี่ยนจากคำว่า “บวรรัตนโกสินทร์” เป็น “อมรรัตนโกสินทร์”
ในการสร้างพระมหาบรมราชวัง โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดขึ้นภายในด้วย คือ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว แล้วให้อัญเชิญพระแก้วมรกตขึ้นประดิษฐาน ทรงพระราชทานนามใหม่ว่า “พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร” เพื่อเป็นสิริมงคลแก่กรุงเทพฯ
การปกครองของไทยสมัยรัตนโกสินทร์
ตั้งแต่รัชกาลที่ 1-4 มีระเบียบแบบแผนตามแบบสมัยอยุธยา พระมหากษัตริย์มีอำนาจสูงสุดและเด็ดขาดในการปกครองประเทศ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
1. การปกครองส่วนกลาง มีอัครมหาเสนาบดี 2 ตำแหน่ง คือ สมุหกลาโหมเป็นหัวหน้าฝ่ายทหาร รับผิดชอบกิจการด้านการทหารทั่วประเทศและปกครองหัวเมืองฝ่ายใต้ ส่วนสมุหนายกเป็นหัวหน้าฝ่ายพลเรือน รับผิดชอบกิจการด้านพลเรือนทั้งหมดและปกครองหัวเมืองเหนือ ส่วนหัวเมืองชายทะเลด้านฝั่งตะวันออก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงจัดให้อยู่ในความดูแลของกรมท่า นอกจากตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีทั้ง 2 นี้แล้ว ยังมีเสนาบดีจตุสดมภ์ คือ เสนาบดีกรมเมืองหรือกรมเวียง เรียกว่า “พระนครบาล” เสนาบดีกรมวัง เรียกว่า “พระธรรมาธิกรณ์” เสนาบดีกรมคลัง เรียกว่า “พระโกษาธิบดี” เสนาบดีกรมนา เรียกวา “พระเกษตราธิบดี” จตุสดมภ์ทั้ง 4 อยู่ภายใต้การดูแลของสมุหนายก มีหน้าที่และความรับผิดชอบในเรื่องต่างๆ เหมือนครั้งสมัยอยุธยาเว้นแต่กรมคลังที่มีหน้าที่ติดต่อกับต่างประเทศอีกด้วย
2. การปกครองส่วนภูมิภาค แบ่งเขตการปกครองออกเป็น หัวเมือง 3 ประเภท ได้แก่หัวเมืองชั้นใน หรือเมืองจัตวา ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ ที่อยู่บริเวณรอบๆ เมืองหลวง หัวเมืองชั้นนอก ได้แก่ เมืองพระยามหานครา เมืองเอก โท ตรี ซึ่งอยู่ห่างไกลจากราชธานีออกไป เจ้าเมืองมีอำนาจในการปกครองเมืองอย่างเต็มที่ เพราะอยู่ไกจากราชธานี ส่วนเมืองประเทศราช พระมหากษัตริย์จะแต่งตั้งเจ้าประเทศราชให้ปกครองตนเอง แต่ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการให้เมืองหลวง 3 ปีต่อ 1 ครั้ง หรือถ้าเป็นเมืองที่อยู่ใกล้ราชธานี เช่น อุบลราชธานี เขมร ไทยบุรี เชียงใหม่ หลวงพระบาง ต้องส่งปีละครั้ง เมื่อเกิดศึกสงคราม เมืองประเทศราชเหล่านี้ต้องส่งทหารมาช่วยรบทันที หรือในยามปกติอาจเกณฑ์ชาวเมืองประเทศราชมาช่วยให้แรงงานในการปรับปรุงประเทศ
3. การปกครองส่วนท้องถิ่น แบ่งออกเป็น บ้าน ตำบล และแขวงตามลำดับ ซึ่งอาจเทียบได้กับ หมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ ในปัจจุบัน
กฎหมายและการศาล
รากฐานกฎหมายของไทยที่ใช้กันในสมัยรัตนโกสินทร์ ได้มาจากคัมภีร์พระธรรมศาสตร์หรือคัมภีร์ธรรมสัตถัมของอินเดีย ซึ่งไทยได้รับมาจากมอญอีกต่อหนึ่ง นำมาเป็นรากฐานกฎหมายของสุโขทัยและอยุธยา นอกจากนี้ยังมีพระราชศาสตร์ ซึ่งเป็นพระบรมราชโองการและพระบรมราชวินิจฉัยของพระมหากษัตริย์ใช้สำหรับติดสินคดีความต่างๆ
คราวที่เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พ.ศ.2310 พระราชกำหนดกฎหมายต่างๆ สูญหายกระจัดกระจายและถูกทำลายไปมากมาย มีเหลืออยู่เพียงส่วนน้อย เมื่อมาถึงสมัยธนบุรีมีการปรับปรุงบ้านเมืองและปราบปรามศัตรูที่คอยมารุกรานอธิปไตยของชาติตลอดรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทำให้มีเวลาแก้ไขตัวบทกฎหมายน้อย ส่วนใหญ่ใช้ของเดิมซึ่งรับมาจากสมัยอยุธยา ครั้นมาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมกฎหมายที่หลงเหลืออยู่นำมาชำระให้ถูกต้อง และโปรดให้อาลักษณ์คัดลอกไว้ 3 ชุด แต่ละชุดให้ประทับตราไว้ ได้แก่ ตราราชสีห์เป็นตราประจำตำแหน่งสมุหนายก ตราคชสีห์เป็นตราประจำตำแหน่งสมุหกลาโหม และตราบัวแก้วเป็นตราประจำตำแหน่งพระคลัง หรือกรมท่า หรือโกษาธิบดี กฎหมายฉบับนี้จึงมีชื่อว่า “กฎหมายตราสามดวง” หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ประมวลกฎหมายรัชกาลที่ 1”
นอกจากจะทรงตรากฎหมายตราสามดวงแล้ว ยังมีอีกฉบับหนึ่งที่มิได้ประทับตราสามดวงไว้ เรียกว่า “ฉบับรองทรง” กฎหมายตราสามดวงนี้เป็นกฎหมายหลักในการปกครองประเทศมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5
เศรษฐกิจสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
1. การค้ากับต่างประเทศ ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไทยมีการค้าขายกับต่างประเทศดังนี้
1.1 การค้ากับประเทศในเอเชีย ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นการค้าขายส่วนใหญ่ทำกับจีน นอกจากนี้ก็มีชวา สิงคโปร์และอินเดีย ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเป็นการค้าสำเภา มีทั้งสำเภาหลวงและสำเภาเอกชน ซึ่งเป็นการค้าที่สำคัญและทำรายได้ให้กับประเทศมาก สำเภาหลวงที่ปรากฏชื่อในสมัยรัชกาลที่ 1 มีอยู่ 2 ลำ คือ เรือหูสูงและเรือทรงพระราชสาสน์ เรือสำเภานี้ลักษณะแบบจีน ต่อในเมืองไทยใช้ไม้อย่างดี ใช้ลูกเรือเป็นคนจีนทั้งหมด แต่ผู้คุมเป็นคนไทยอยู่ในความดูแลของกรมท่าหรือพระคลังสินค้า
ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เรือสำเภาทั้งไทยและจีนติดต่อกับค้าขายกันถึง 140 ลำ สำเภาหลวงที่สำคัญมี เรือมาลาพระนคร และเรือเหราข้ามสมุทร สินค้าออกที่สำคัญได้แก่ ดีบุก งาช้าง ไม้ น้ำตาล พริกไทย รังนก กระดูกสัตว์ หนังสัตว์ กระวาน และครั่ง ส่วนสินค้าเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องถ้วยชามสังคโลก ชา ไหม เงิน ปืน ดินปืน กระดาษ เครื่องแก้ว
นอกจากนี้พระองค์ทรงเล็งเห็นความสำคัญและทรงสนับสนุนให้กิจการด้านนี้เจริญก้าวหน้าออกไปโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ซึ่งมีพระปรีชาสามารถเรื่องการค้ากับต่างประเทศเป็นผู้บังคับบัญชากรมท่า มีการต่อเรือกำปั่น 10 ลำ ลำแรกชื่อ อรสุมพล
ไทยมีการส่งเครื่องบรรณาการแลกเปลี่ยนกับจีนตลอดมา จนกระทั่งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่า วิธีการนี้จีนจะเข้าใจว่าไทยยอมอ่อนน้อมและตกอยู่ภายใต้อำนาจของจีน จึงให้ยกเลิกเสีย
1.2 การค้ากับประเทศตะวันตก ตลอดเวลาที่ไทยติดต่อกับชาติตะวันตกนั้น คนไทยมีความรู้สึกไม่ไว้วางใจตลอดมา แม้ไทยจะยอมมีสัมพันธไมตรีทางการทูตและการค้า แต่ไทยก็มีเจ้าหน้าที่คอยเข้มงวด และดูแลอย่างใกล้ชิด ในสมัยรัชกาลที่ 2 อังกฤษได้ส่งนายจอห์น ครอว์เฟิร์ด เป็นทูตเข้ามาเจรจาเรื่องการค้ากับไทย พยายามให้ไทยยกเลิกการผูกขาดของพระคลังสินค้า ให้ไทยจัดระบบการเก็บภาษรีขาเข้าและขาออกให้แน่นอน แต่ไม่สำเร็จ
2.ภาษีอากร รายได้ส่วนหนึ่งของประเทศที่นำมาใช้สำหรับปรับปรุงประเทศ นอกจากการค้าขายแล้ว ยังได้จากการเรียกเก็บภาษีอากรจากประชาชน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท
2.1 ภาษีอากรที่เก็บภายในประเทศ มี 4 ชนิด คือ
- จังกอบ คือ การเรียกเก็บสินค้าของราษฎร โดยชักส่วนสินค้าที่ผ่านด่านทั้งทางบกและทางน้ำ ในอัตรา 10 หยิบ 1 หรือ 1 ส่วนต่อ 10 ส่วน
- อากร คือ เงินหรือสิ่งของที่รัฐเรียกเก็บจากผลประโยชน์ของราษฎรที่ได้จากการประกอบอาชีพนอกจากอาชีพค้าขาย เช่น การทำนา เรียกว่า อากรค่านา การทำสวน เรียกว่า อากรสวนใหญ่ หรือ พลากร หรือ สมพัตสร การจับสัตว์น้ำ เรียกว่า อากรค่าน้ำ การเก็บไข่เต่าเก็บรังนก เรียกว่า อากรค่ารักษาเกาะ นอกจากนี้ยังมีการเก็บอากรบ่อนเบี้ย อากรสุรา อากรตลาด อากรเก็บของป่า อากรขนอน ฯลฯ
- ส่วย คือ เงินหรือสิ่งของที่ไพร่หลวงนำมาให้แก่ทางราชการทดแทนการเข้าเดือน โดยได้มาจากผลิตผลตามธรรมชาติที่หาได้ภายในท้องถิ่น เช่น ดีบุก พริกไทย มูลค้างคาว ไพร่หลวงนำมาให้แก่ทางราชการทดแทนการเข้าเดือน เรียกว่า ไพร่ส่วย
- ฤชา คือ ค่าธรรมเนียมที่ทางราชการเรียกเก็บเฉพาะรายบุคคล เนื่องจากได้รับการบริการจากราชการ เช่น ออกโฉนดที่ดินให้
2.2 ภาษีอากรที่ได้จากภายนอกประเทศ
- ภาษีเบิกร่องหรือภาษีปากเรือ คือ ภาษีที่เก็บจากเรือสินค้าต่างประเทศ โดยคิดจากขนาดความกว้างของปากเรือหรือยานพาหนะที่บรรทุกสินค้าเข้ามา สมัยรัชกาลที่ 1 คิดว่าละ 12 บาท ต่อมาเพิ่มเป็นวาละ 20 บาท สมัยรัชกาลที่ 2 คิดเป็นวาละ 80 บาท สมัยรัชกาลที่ 3 ถ้าเป็นเรือสินค้าที่ไม่ได้บรรทุกสินค้าเข้ามาขายคิดว่าละ 1,500 บาท ถ้าบรรทุกสินค้าคิดว่าละ 1,700 บาท
- ภาษีสินค้าออก รัฐเรียกเก็บตามประเภทของสินค้า เช่น ข้าวสารหาบละ 1 สลึง น้ำตาลหาบละ 2 สลึง พอถึงสมัยรัชกาลที่ 3 รัฐเรียกเก็บภาษีขาออกต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มมากขึ้น เช่น เก็บภาษีพริกไทย ภาษีเกลือ ภาษีไม้แดง ภาษีน้ำมันมะพร้าว ภาษีฝ้าย ภาษีปอ ภาษีน้ำตาลทราย ฯลฯ
3. หน่วยงาน สินค้าผูกขาด สินค้าต้องห้าม
3.1 กรมพระคลังสินค้า ต่อมาเรียกว่า กรมท่า มีหน้าที่ติดต่อกับต่างประเทศ เก็บภาษีเข้าและภาษีออก ตรวจตราเรือสินค้าต่างประเทศ และเลือกซื้อสินค้าตามที่ราชการต้องการ ซึ่งอยู่ในความดูแลของเสนาบดีกรมท่าหรือโกษาธิบดี โดยจะส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจเรือสินค้าก่อน เรียกว่า การเหยียบหัวตะเภา
3.2 สินค้าผูกขาด คือ สินค้าที่ทางราชการต้องการและคิดว่ามีอันตรายหากพ่อค้าจะทำการติดต่อซื้อขายกันโดยตรง ได้แก่ อาวุธ กระสุนปืน ดังนั้นรัฐจึงผูกขาดการซื้อขายเสียเอง
3.3 สินค้าต้องห้าม คือ สินค้าที่หายากและมีราคาแพง ราษฎรต้องนำมาขายให้ทางราชการ เพื่อทางราชการจะได้นำไปขายให้พ่อค้าต่างประเทศ จะได้เป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่รัฐ สินค้าต้องห้าม ได้แก่ งาช้าง รังนก ฝาง กฤษณา ฯลฯ
4. เงินตรา สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นยังคงใช้เงินพดด้วงเหมือนอยุธยา แต่ประทับตราแตกต่างกันออกไป แล้วแต่ตราประจำรัชกาลนั้นๆ เช่น รัชกาลที่ 1 ประทับตราอุณาโลม รัชกาลที่ 2 ประทับตราครุฑกับจักร รัชกาลที่ 3 ประทับตราปราสาทกับจักร
สภาพสังคมและการศึกษา
1. สภาพสังคม โครงสร้างของสังคมไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีลักษณะคล้ายคลึงกับสังคมอยุธยา ถึงแม้ภายในสังคมจะไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะอย่างอินเดีย แต่ฐานะความเป็นอยู่ของคนก็แตกต่างกันอย่างมาก แต่ละคนจะสามารถเลื่อนฐานะของตนขึ้นได้ก็ต่อเมื่อได้รับความดีความชอบหรือมีความสามารถ เช่น สามัญจะมีโอกาสเลื่อนฐานะของตนจนกระทั่งเป็นถึงขุนนางได้ต้องมได้รับการศึกษา รวมทั้งมีความสามารถอยู่ในตัวเองด้วย การแบ่งชนชั้นทางสังคมของคนแบ่งได้ ดังนี้
1.1 เจ้านายสูงสุด ได้แก่ พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์
1.2 ขุนนางและข้าราชการต่างๆ ที่มีศักดินาตั้งแต่ 400-10,000 ไร่ ซึ่งมีความเป็นอยู่ดี ฐานะร่ำรวย มีสิทธิพิเศษหลายอย่าง
1.3 ไพร่และสามัญชน ได้แก่ ชนส่วนใหญ่ของประเทศ
1.4 ทาส เป็นผู้ที่มีอิสระในตัวเอง แต่สภาพความเป็นอยู่ของทาสในเมืองไทยดีกว่าประเทศต่างๆ มาก ถ้าทาสทำความดีความชอบต่อบ้านเมือง ก็สามารถเลือกฐานะตนเองเป็นขุนนางได้ ส่วนขุนนางถ้าทำความผิดร้ายแรงก็อาจถูกลดฐานะลงเป็นทาสได้เช่นกัน
ทาสในสังคมสมัยนั้น ได้แก่ ทาสเชลย ทาสในเรือนเบี้ย ทาสสินไพ่ ทาสได้มาแต่บิดามารดา ทาสที่เลี้ยวไว้เมื่อเกิดทุพภิกขภัย ทาสที่ช่วยมาจากทัณฑโทษ ทาสท่านให้
2. การศึกษา ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ศูนย์กลางของการศึกษาที่สำคัญมีอยู่ 2 แห่ง คือ วังและวัด ขุนนางหรือผู้ดีมีตระกูลมักส่งบุตรหลานของตนเข้าไปฝึกอบรมตามวังและราชสำนัก ถ้าเป็นผู้ชายมักฝากตัวเข้าเป็นมหาดเล็ก เพื่อจะได้ศึกษาวิชาการต่างๆ การใช้อาวุธ การใช้พาหนะในยามสงคราม ผู้หญิงฝึกอบรมวิชาแม่บ้านแม่เรือน การเย็บปักถักร้อย สำหรับการศึกษาในวัด สามัญชนมักนำลูกหลานไปฝากตัวไว้กับพระตามวัด เป็นลูกศิษย์สำหรับใช้สอย หรือบวชอยู่กับพระที่วัด พระจะได้สอนให้หัดเขียนอ่านวิชาหนังสือ วิชาด้านพระศาสนา เช่น ภาษาบาลี สันสกฤต และขอม และจะได้รู้จักขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ
การเรียนที่สำคัญอีกแบบหนึ่ง คือ การศึกษาวิชาชีพตามบรรพบุรุษสืบตระกูลถ่ายทอดกันต่อๆ มา เช่น แพทย์ นักกฎหมาย ครูอาจารย์ หรือการสืบทอดอาชีพกันเป็นกลุ่มตามอาชีพของท้องถิ่นนั้น ๆ เช่น ช่างถม ช่างทอง ช่างปั้น ช่างแกะสลัก ฯลฯ
การศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณี
1. ศาสนา
- การสังคายนาและชำระพระไตรปิฎก การเสียกรุงครั้งที่ 2 ทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมโทรมลงไปมาก และพระไตรปิฎกก็บกพร่องอยู่มาก รัชกาลที่ 1 จึงมีพระราชดำริให้ทำการสังคายนาพระไตรปิฎกขึ้นที่วัดมหาธาตุ เมื่อ พ.ศ.2331 ใช้เวลาประมาณ 5 เดือน พระสงฆ์ที่มีส่วนสำคัญในการสังคายนาพระไตรปิฎกนี้ ได้แก่ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) พระวันรัต (สุ) พระพิมลธรรม (วัดพระเชตุพนฯ) พระพุฒาจารย์ (เป้า) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ชำระพระไตรปิฎกตั้งแต่ครั้งกรุงเก่าที่กระจัดกระจาย ให้เป็นระเบียบหมวดหมู่ แล้วจารลงบนใบลาน คัดลอกพระไตรปิฎกเป็นฉบับหลวงขึ้น ปิดทองทั้งปกหน้าปกหลัง แลด้านข้างเรียกว่า “ฉบับทองหรือทองใหญ่ หรือฉบับทองทึบ” และเชิญประดิษฐานไว้ในตู้ประดับมุก ในหอพระมณเทียรธรรมกลางสระ ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามในพระบรมมหาราชวัง
สมัยรัชกาลที่ 2 ทรงส่งสมณทูตไปยังลังกาเพื่อศึกษาความเป็นของศาสนาในลังกาและได้นำหน่อพระศรีมหาโพธิมาจากลังกา
สมัยรัชกาลที่ 3 ทรงให้ตรวจสอบพระไตรปิฎกทั้งจากลังกาและมอญ และให้จารึกอย่างสวยงาม สมัยนี้ได้รับยกย่องว่ามีพระไตรปิฎกที่สวยงามและถูกต้องที่มากที่สุด
- การสังคายนาพระธรรมวินัย รัชกาลที่ 1 ทรงออกกฎหมายสำหรับพระสงฆ์หลายฉบับ เพราะพระสงฆ์สมัยนั้นหย่อนพระธรรมวินัยไปมาก ไม่สนใจเล่าเรียนพระไตรปิฎก การเทศน์ พระสงฆ์เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของฆราวาส จึงจำเป็นเข้าต้องกำหนดโทษขั้นรุนแรง
สมัยรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้สำรวจความประพฤติของสงฆ์ ปรากฏว่าพระสงฆ์ถูกจับสึกและหนีเข้าป่าเป็นอันมาก
- การตั้งธรรมยุติกนิกาย ในสมัยรัชกาลที่ 3 สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฏทรงผนวชอยู่ ณ วัดมหาธาตุ ทรงสนพระทัยศึกษาพระไตรปิฎก พระพุทธวจนะ และพระธรรมวินัยและทรงเห็นว่า พระภิกษุสงฆ์ในสมัยนั้นไม่ได้เคร่งครัดในพระธรรมวินัย จึงต้องการจะทำการสังคายนาเสียใหม่ พระองค์ได้ทรงพบพระภิกษุรามัญผู้หนึ่ง ชื่อ ซาย เคร่งครัดในพระธรรมวินัยมาก พระองค์จึงทรงถือเป็นแบบอย่างและทรงปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ข้อปฏิบัติของพระองค์จึงผิดไปจากพระสงฆ์รูปอื่นๆ การห่มผ้าก็เป็นแบบรามัญ พระองค์จึงย้ายที่ประทับมาอยู่ ณ วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) ทรงให้นามคณะสงฆ์ของพระองค์ว่า “คณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย” ส่วนคณะสงฆ์เดิมเรียกตนเองว่า “คณะสงฆ์มหานิกาย” หลักธรรมของคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ถือว่าเป็นหลักธรรมถูกต้อง เชื่อในสิ่งที่มีเหตุผลมากขึ้น ทำให้ใกล้ชิดและได้รับความเลื่อมใสจากประชาชนมากขึ้น ที่สำคัญคือ มีการเปลี่ยนแปลงการเทศน์ จากภาษาบาลีเป็นภาษาไทย ทำให้เข้าใจง่าย
- การส่งสมณทูตไปลังกา สมัยรัชกาลที่ 2 ได้มีพระภิกษุลังกา ชื่อ พระสาสนวงศ์ อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและต้นโพธิ์ลังกามาถวายใน พ.ศ. 2357 ไทยได้ส่งสมณทูตไปยังลังกาทวีป เพื่อสอบสวนพระศาสนาทั้งหมด 9 รูป มีพระอาจารย์ดีกับพระอาจารย์เทพเป็นหัวหน้า และได้นำหน่อพระศรีมหาโพธิ์มาจากลังกา 6 ต้น ถือว่าเป็นต้นโพธิ์ที่สืบเชื้อสายมาจากต้นโพธิ์ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ที่พุทธคยาในอินเดีย โปรดเกล้าฯให้นำไปปลูกที่นครศรีธรรมราช 2 ต้น วัดสุทัศน์ฯ 1 ต้น วัดสระเกตุฯ 1 ต้น ที่กลันตัน 1 ต้น และวัดมหาธาตุ 1 ต้น สมัยรัชกาลที่ 3 พระสงฆ์เดินทางไปลังกาเพื่อขอยืมพระไตรปิฎกมาตรวจสอบกับของไทย 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 พ.ศ.2385 ครั้งที่ 2 พ.ศ.2387 กว่าจะส่งคืนก็ล่วงเข้าสมัยรัชกาลที่ 4
- การสร้างและปฏิสังขรณ์วัด ศาสนานับเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งปวงไม่ว่าประชาชนหรือพระมหากษัตริย์ ส่วนหนึ่งของพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์เกือบทุกรัชกาลในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นคือ การสร้างและปฏิสังขรณ์วัด มีดังนี้
1) วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในเขตพระบรมมหาราชวังชั้นนอก เพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ให้มีลักษณะคล้ายคลึงกับวัดพระศรีสรรเพชญสมัยอยุธยา และวัดมหาธาตุสมัยกรุงสุโขทัย เป็นที่ประดิษฐานแก้วมรกต หรือพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร วัดนี้จึงได้ชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า “วัดพระแก้ว”
2) วัดสุทัศนเทพวราราม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดขนาดใหญ่เช่นเดียวกับวันพนัญเชิงสมัยกรุงศรีอยุธยา บริเวณกำแพงพระนครตรงใจกลางเมืองกรุงเทพฯ เป็นที่ประะดิษฐานของพระศรีศากยมุนี หรือพระโตหล่อด้วยโลหะ ซึ่งอัญเชิญมาจากวิหารหลวงวัดมหาธาตุ สุโขทัย วันนี้ได้ชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า “วัดพระโต”
3) วัดพระเชตุพนวิมลคลาราม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิวังขรณ์ขึ้นมาใหม่จากเดิมชื่อว่า วัดโพธาราม พระราชทานนามว่า “วัดพระเชติพนวิมลมังคลาวาส ต่อมาเปลี่ยนเป็น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (สมัยรัชกาลที่ 4) เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่จากวัดพระศรีสรรเพชญ กรุงศรีอยุธยา และพระพุทธสาวกปฏิมากร วัดคูหาสวรรค์ กรุงธนบุรี ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่และโปรดเกล้าฯ ให้ประชุมนักปราชญ์ ราชบัณฑิต และช่างต่างๆให้ช่วยกันชำระตำราต่างๆ เช่น วิชาแพทย์โบราณ ยาแก้โรคต่างๆ ตำราหมอนวด กวีนิพนธ์ต่างๆ โดยจารึกไว้บนแผ่นศิลาตามเสาและผนังรายรอบบริเวณวัด วัดนี้จึงจัดว่าเป็น “วิทยาลัยแห่งแรกในประเทศไทย”
4) วัดอรุณราชวราราม เป็นวัดโบราณสร้างแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เดิมเรียกว่า วัดมะกอก แล้วเปลี่ยนเป็นวัดแจ้งในสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 1 สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิสรสุนทร (รัชกาลที่ 2) ได้ทรงสร้างพระอุโบสถใหม่ เมื่อขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามวัดว่า วัดอรุณราชธาราม ภายหลังเปลี่ยนเป็น วัดอรุณราชวราราม วัดนี้มีพระปรางค์องค์ใหม่ที่เป็นปูชนียสถานที่สำคัญและงดงามมาก
2. ขนบธรรมเนียมประเพณี
ขนบธรรมเนียมประเพณีสมัยต้นรัตนโกสินทร์ยึดตามแบบอยุธยา ที่สำคัญได้แก่
2.1 ขนบธรรมเนียมประเพณีเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีโสกันต์ (โกนจุก) พระราชพิธีพระเมรุมาศ (การเผาพระบรมศพ) พระราชพิธีฉัตรมงคล พระราชพิธีสมโภชช้างเผือก ฯลฯ
2.2 ขนบธรรมเนียมประเพณีเกี่ยวกับพราหมณ์ เช่น พิธีการโล้ชิงช้า การสร้างโบสถ์พราหมณ์ ฯลฯ
2.3 ขนบธรรมเนียมประเพณีเกี่ยวบ้านเมือง เช่น พระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา พระราชพิธีอาพาธพินาศ พระราชพิธีพืชมงคล ฯลฯ
2.4 ขนบธรรมเนียมประเพณีเกี่ยวกับชาวบ้าน เช่น การเล่นเพลงสักวา พิธีการทำขวัญนาค การแต่งงาน การเผาศพ การโกนจุก พิธีตรุษสงกรานต์ สารทไทย ฯลฯ
2.5 ขนบธรรมเนียมประเพณีเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เช่น พิธีวิสาขบูชา อาสาฬหบูชา มาฆบูชา เข้าพรรษา ออกพรรษา การบวชนาค เทศน์มหาชาติ สมโภชพระแก้วมรกต ฯลฯ
พระราชพิธีและขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆที่สำคัญๆ ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ครั้นมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ได้รับการฟื้นฟูหลายพิธี เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีโสกันต์ พระราชพิธีสมโภชช้างเผือก พระราชพิธีสมโภชพระแก้วมรกต การเล่นสักวา พระราชพิธีตรียัมปวาย(โล้ชิงช้า) พระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินทอดผ้าพระกฐินโดยกระบวนพยุหยาตรา ทางสถลมารคและชลมารค พระราชพิธีอาพาธพินาศ พระราชพิธีวันวิสาขบูชา ฯลฯ พระราชพิธีดั้งเดิมเก่าแก่ของไทยนี้แสดงให้เห็นถึงอารยธรรมที่เจริญรุ่งเรือง ความสามัคคีกลมเกลียวของคนในชาติ รวมทั้งความมั่นคงเป็นปึกแผ่นมาช้านานของชาติไทย
วรรณกรรมและศิปลกรรม
1. ด้านวรรณกรรม สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ราชสำนักจัดว่าเป็นศูนย์กลางของวรรณกรรมและเป็นที่ชุมนุมของบรรดากวีทั้งหลาย ซึ่งมีทั้งองค์พระมหากษัตริย์ เจ้านายและบุคคลธรรมดา วรรณคดีที่สำคัญในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้แก่ รามเกียรติ์ ราชาธิราช และสามก๊ก ในรัชกาลที่ 2 ทรงนิพนธ์บทละครไว้หลายเรื่อง แต่ที่ได้รับการยกย่องมากที่สุด คือ บทละครเรื่องอิเหนา ส่วนกวีเอกสมัยนี้ คือ สุนทรภู่ ซึ่งมีผลงานชั้นเยี่ยมหลายประเภทด้วยกัน มีทั้งบทละคร เสภา นิราศ บทเห่ และกลอน เช่น เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน นิราศภูเขาทอง กลอนสุภาษิตสอนหญิง ฯลฯ
2. ด้านศิลปกรรม ศิลปะแขนงต่างๆ ได้รับการฟื้นฟูอย่างจริงจังจนกลับเจริญรุ่งเรืองเหมือนสมัยกรุงศรีอยุธยา สถาปัตยกรรมที่สร้างอย่างประณีตงดงาม ทรงคุณค่ายิ่งของชาติ ได้แก่ พระราบรมมหาราชวัง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดอรุณราชวราราม และวัดราชโรสาราม ซึ่งทั้ง 3 วัดหลังนี้เป็นประจำรัชกาลที่ 1, 2, 3 ตามลำดับ นอกจากนี้แล้วช่างสิบหมู่ยังร่วมกันสร้างผลงานไว้มากมาย เช่น เครื่องราชูปโภคขององค์พระมหากษัตริย์ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ตู้พระไตรปิฎกลายรดน้ำ และเครื่องถ้วยชามเบญจรงค์
จิตรกรรม ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ยังคงเลียนแบบกรุงศรีอยุธยา เช่น การวาดภาพในอาคารที่เป็นพระอุโบสถ หรือพระวิหาร มักจะวาดภาพเทพชุมนุม ตั้งแต่เหนือระดับหน้าต่างขึ้นไปจนถึงเพดาน ส่วนช่วงระหว่างช่องหน้าต่างจะวาดภาพพุทธประวัติ หรือเทศชาติชาดก ผนังด้านหลังพระประธานวาดภาพเรื่องไตรภูมิ และผนังตรงหน้าพระประธานวาดภาพพระพุทธเจ้าตอนมารผจญ เช่น ภาพจิตรกรรมในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล ภาพจิตรกรรมฝาผนังด้านตะวันออกและตะวันตกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ฯลฯ ทั้งสองแห่งนี้เป็นงานในรัชกาลที่ 1
ต่อมาในรัชกาลที่ 2 ไม่มีงานให้เห็นเด่นชัด เนื่องจากการก่อสร้างที่สำคัญมักจะเสร็จในรัชกาลที่ 3 ดังนั้นภาพจิตรกรรมที่ประดับอาคารนั้นๆ มักจะเป็นภาพจิตรกรรมในรัชกาลที่ 3 ทั้งสิ้น มักจะเป็นภาพจิตรกรรมในรัชกาลที่ 3 ทั้งสิ้น ถือได้ว่ารุ่งเรืองที่สุดในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น และมีอิทธิพลของศิลปะจีนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพราะการที่มีการติดต่อค้าขายกับจีน ประกอบกับรัชกาลที่ 3 ทรงนิยมด้วย เห็นได้ชัดจากวัดหลวงในรัชกาลนี้ อาคารจะสร้างแบบจีนเป็นส่วนมาก จิตรกรเอกที่มีฝีมือชั้นครูมีผลงานดีเด่นในรัชกาลที่ 3 คือ หลวงวิจิตรเจษฎา หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ครูทองอยู่ และครูคง หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า คงแป๊ะ ผลงานของทั้งสองท่านนี้ถือว่าเป็นมรดกทางจิตรกรรมที่ล้ำค่าอย่างยิ่ง ภาพจิตรกรรมที่สำคัญในรัชกาลที่ 3 ได้แก่ ภาพจิตกรรมที่พระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดอรุณราชวราราม วัดบางยี่ขัน เป็นต้น
นาฏศิลป์และดนตรีไทยเจริญที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 2 เพราะพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงเป็นกวี เป็นศิลปิน และทรงสนพระทัยงานด้านนี้เป็นพิเศษ การเล่นโขนในรัชกาลนี้ได้ใช้เป็นแบบแผนของชาติสืบต่อมา
การต่างประเทศสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ไทยมีการติดต่อสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ดังนี้
1. ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน นโยบายต่างประเทศที่สำคัญของไทยเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีดังนี้
1.1 การป้องกันเอกราชของประเทศ ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไทยทำสงครามกับพม่าทั้งหมด 10 ครั้ง ในสมัยรัชกาลที่ 1 นี้มีการทำสงคราม 7 ครั้ง ในสมัยรัชกาลที่ 2 1 ครั้ง สมัยรัชกาลที่ 3 1 ครั้ง และในสมัยรัชกาลที่ 4 1 ครั้ง แต่ส่วนใหญ่ของสงครามในระยะหลังเป็นสงครามย่อยๆ เนื่องจากกรณีพิพาทกันแถบชายแดนระหว่างประเทศ ครั้งสำคัญที่สุดเกิดในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช คือ ศึกเก้าทัพ เป็นสงครามที่ไทยต้องรับศึกหนัก เพราะพม่าได้ใช้กำลังเข้าตีไทยจากทุกด้านในเวลาเดียวกัน หวังจะให้ไทยพะว้าพะวัง แบ่งกำลังออกรับศึกที่มาทุกทิศทุกทาง โดยไม่ต้องการให้ไทยสามารถรวมกำลังได้ ส่วนไทยกำลังพลน้อยกว่าพม่าถึงครึ่งต่อครึ่ง ถ้าจะแบ่งทหารออกไปรักษาเขตแดนทุกทางที่พม่าจะยกเข้ามา กำลังฝ่ายไทยจะอ่อนแอและเสียเปรียบ อีกประการหนึ่งไทยพึ่งสร้างเมืองใหม่ได้ 3 ปีเท่านั้น ไม่ทันได้ปรับปรุงหัวเมืองทางภาคเหนือจึงทำให้ขาดกำลงต้านทานไป ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและบรรดาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ มีความเห็นพ้องต้องกันว่าควรรับศึกทางด้านที่สำคัญก่อน ด้านที่ไม่สำคัญนักจะปล่อยไว้ชั่วคราว เมื่อสามารถเอาชัยชนะข้าศึกที่เป็นทัพสำคัญได้แล้วจึงจะหันไปปราบข้าศึกทางอื่นต่อไป
การจัดทัพของพม่า การรบครั้งนี้พระเจ้าปดุงจอมทัพ ทรงจัดทัพ ดังนี้
ทัพที่ 1 แบ่งเป็นทัพบกและทัพเรือ ทัพบกมีหน้าที่ตีหัวเมืองปักษ์ใต้ของไทย ตั้งแต่เมืองชุมพรถึงสงขลา เป็นการตัดความช่วยเหลือจากทางใต้ ส่วนทัพเรือมีหน้าที่ตีหัวเมืองชายทะเลทางฝั่งตะวันตก ตั้งแต่เมืองตะกั่วป่าลงไปจนถึงเมืองถลาง และยังมีห้าที่หาเสบียงอาหารให้แก่กองทัพด้วย
ทัพที่ 2 ให้รวบรวมพลที่ทวายและให้เดินทัพเข้าทางด้านบ้องตี้ (อยู่จังหวัดราชบุรี) ให้ตีเมืองราชบุรี เพชรบุรี ไปบรรจบกับทัพที่ 1 ที่ชุมพร
ทัพที่ 3 เข้าทาทางเมืองเชียงแสน ตีเมืองลำปาง สวรรคโลก สุโขทัย นครสวรรค์ ลงมาบรรจบกับทัพหลวงที่กรุงเทพฯ
ทัพที่ 4, 5, 6, 7, 8 ชุมนุมทัพที่เมืองเมาะตะมะก่อน ต่อจากนั้นจึงเดินทัพตามลำดับกันเข้าเมืองไทย ทางด่านเจดีย์สามองค์ ลงมาตีกรุงเทพฯ
ทัพที่ 9 มีหน้าที่ตีหัวเมืองเหนือริมฝั่งแม่น้ำปิง ตั้งแต่เมืองตาก กำแพงเพชร ลงมาบรรจบกับทัพหลวงที่กรุงเทพฯ
การจัดทัพของไทย มีดังนี้
ทัพที่ 1 ทางด้านเหนือให้กรมพระราชวังหลัง ในขณะนั้นยังทรงดำรงยศเจ้าฟ้ากรมหลวงอรุรักษ์เทเวศร์ เป็นแม่ทัพคอยรับทัพพม่าทางด้านเหนือ ไม่ให้ยกทัพเข้ากรุงเทพฯได้
ทัพที่ 2 ทางด้านกาญจนบุรีเป็นทัพใหญ่กว่าทุกด้าน ให้คอยตั้งรับพม่าที่ยกเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ ทัพนี้เป็นทัพสำคัญ เพราะพระเจ้าปดุงยกทัพเข้ามาด่านนี้ แม่ทัพคนสำคัญคือ สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท
ทัพที่ 3 ทางตะวันตกเฉียงใต้ มีหน้าที่รักษาทางลำเลียงของกองทัพที่ 2 และคอยต้านทางทัพพม่าที่จะยกมาจากทางใต้ และที่จะเข้ามาทางด่านบ้องตี้ แม่ทัพคนสำคัญคือ เจ้าพระยาธรรมากับเจ้าพระยายมราช
ทัพที่ 4 ทัพหลวง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงเป็นจอมทัพตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ เป็นกองหนุน ถ้าข้าศึกด้านไหนหนักจะได้ยกไปช่วยได้ทันการ
ในศึกเก้าทัพนี้ ทำให้เกิดวีสตรี 2 ท่าน คือ คุณหญิงจัน ภรรยาเจ้าเมืองถลาง และคุณมุกน้องสาว ได้แสดงความกล้าหาญ รวบรวมผู้คนป้องกันเมืองถลางไว้ได้ โดยใช้อุบายหลอกล่อทหารพม่า เสร็จศึกพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้คุณหญิงจัน เป็นท้าวเทพกระษัตรี คุณมุกเป็นท้าวศรีสุนทร
1.2 การขยายอาณาเขตและป้องกันดินแดนประเทศราช อาณาเขตของไทยในสมัยรัชกาลที่ 1 มีอาณาเขตกว้างขวางมาก นอกจากดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบันแล้วยังรวบรวมเอาดินแดนของประเทศลาว เขมร หัวเมืองมลายูตอนเหนือ และดินแดนตอนล่างของพม่าที่เป็นหัวเมืองทวาย มะริด และตะนาวศรี
2. ความสัมพันธ์กับประเทศตะวันตกในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
2.1โปรตุเกส ฝรั่งชาติแรกที่เข้ามาติดต่อกับไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น คือชาวโปรตุเกส ชื่อ อันโตนิโอ เดอ วิเสนท์ (Antonio de Veesent) คนทั่วไป รียกว่า “องคนวีเสน” เป็นอัญเชิญพระราชสาสน์จากกรุงลิสบอนมายังประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้การต้อนรับอย่างใหญ่โตและทรงให้องตนวีเสนเข้าเฝ้าด้วย และทางไทยได้มีพระราชสาสน์ตอบมอบให้องตนวีเสนเป็นผู้อัญเชิญกลับไป
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พ.ศ.2361 ได้ส่งเรือชื่อ มาลาพระนคร ออกไปค้าขายกับโปรตุเกสที่เมืองมาเก๊า ในการติดต่อครั้งนี้ไทยได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี ขากลับข้าหลวงโปรตุเกสที่มาเก๊าได้ส่ง คาร์ลอส มานูแอล ซิลเวียรา (Carlos Manuel Silviera) เป็นทูตอัญเชิญพระราชสาสน์เข้ามาขอเจริญสัมพันธไมตรีกับไทย พร้อมทั้งส่งเครื่องราชบรรณาการมาให้มากมาย โดยให้การต้อนรับและอำนวยความสะดวกเป็นอย่างดี ในขณะนั้นไทยมีความประสงค์จะซื้ออาวุธปืน ซึ่งโปรตุเกสก็ยินยอมจัดหาซื้อปืนคาบศิลาให้ไทยถึง 400 กระบอก
พ.ศ.2363 กษัตริย์โปรตุเกสมีพระราชประสงค์จะขอตั้งสถานกงสุลขึ้นในประเทศไทยของขอให้คาร์ลอส มานูแอล ซิลเวียรา เป็นกงสุลโปรตุเกสประจำประเทศไทย ซึ่งไทยก็ยอมแต่โดยดี ซึ่งนับว่าเป็นการตั้งสถานกงสุลต่างประเทศเป็นครั้งแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ และรัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้คาร์ลอส เดอ มานูแอล ซิลเวียรา รับราชการเป็นขุนนาง พระราชทานตำแหน่งให้เป็น หลวงอภัยพานิช
2.2 อังกฤษ สมัยรัชกาลที่ 1 พระยาไทรบุรี คือ อับดุลละ โทกุรัมซะ ตกลงเซ็นสัญญาให้อังกฤษเช่าเกาะหมาก (ปีนัง) และสมารังไพร ซึ่งเป็นดินแดนที่อยู่ตรงข้ามเกาะหมากปีละ 1,000 เหรียญ ซึ่งดินแดนเหล่านี้อยู่ในความดูแลของไทย เหตุที่พระยาไทรบุรีให้อังกฤษเช่าดินแดนทั้ง 2 นี้ ก็เพื่อหวังพึ่งอังกฤษให้พ้นจากอิทธิพลของไทย แต่อังกฤษก็พยายามผูกไมตรีกับไทย โดยให้ ฟรานซิส ไลท์ หรือกับปตันไลท์ (Francis Light) นำดาบประดับพลอยกับปิ่นด้ามเงินมาทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ 1 พระองค์จึงทรงพระราชทานบรรดาศักดิ์ว่า “พระยาราชกปิตัน” ซึ่งเป็นชาวยุโรปคนแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ที่เข้ารับราชการเป็นขุนนาง และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์
สมัยรัชกาลที่ 2 พ.ศ.2365 มาร์ควิส เฮสติงส์ (Marquis Hestings) ผู้สำเร็จราชการอังกฤษที่อินเดีย ได้ส่งนายจอห์น ครอว์เฟิร์ด (John Craeford) หรือที่คนไทยเรียกว่า “การะฟัด” นำเครื่องราชบรรณาการเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับไทย พร้อมมาขอเจรจาเพื่อทำสนธิสัญญากับไทยโดยมุ่งหวังจะขยายตลาดการค้าเข้ามาในไทย ให้ไทยยอมรับการเช่าเกาะหมากและสมารังไพรของอังกฤษ ขอให้ไทยยกเลิกและลดหย่อนการเก็บภาษีบางอย่าง และต้องการมาศึกษาเรื่องราวความเป็นมาของบ้านเมืองไทยให้ละเอียด เพื่อจะได้ทำแผนที่และทำรายงานเกี่ยวกับพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ต่างๆ ประชากร สภาพความเป็นอยู่และความเป็นไปของไทยต่อรัฐบาลอังกฤษ แต่ปรากฏว่าการเจรจาไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะ
- ทั้ง 2 ฝ่ายไม่เข้าใจภาษากันดีพอ ต้องใช้ล่ามแปลกันหลายต่อ ทำให้ความหมายคลาดเคลื่อนไป ล่ามของทั้งสองฝ่ายเป็นพวกคนชั้นต่ำพวกกะลาสีเรือ ทำให้ขุนนางไทยและครอว์เฟิร์ดไม่เข้าใจกันประเพณีบางอย่างของไทยทำให้ฝรั่งดูถูกเหยียดหยาม เช่น ขุนนางออกรับแขกเมืองไม่ยอมสวมเสื้อ
- ครอว์เฟิร์ดไม่พอใจที่ไทยไม่ยอมอ่อนน้อมต่ออังกฤษเหมือนพวกชวาและมลายูที่เคยเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ส่วนไทยไม่พอใจที่อังกฤษแสดงท่าทางเย่อหยิ่งข่มขู่ดูหมิ่นไทย ไม่เหมือนกับจีนที่ปฏิบัติตนอ่อนน้อมยินยอมทำตามระเบียบต่างๆ อย่างดี
- ไทยไม่ยอมตกลงปัญหาดินแดนไทรบุรีที่อังกฤษขอร้อง
- คอรว์ เฟิร์ดทำการสำรวจระดับน้ำตามปากอ่าวไทยเพื่อทำแผนที่ ทำให้ไทยไม่พอใจ ต่อมาครอว์เฟิร์ดได้ส่งผู้สำเร็จราชการอังกฤษประจำสิงคโปร์เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีต่อไทย ปรากฏว่าไทยเริ่มมีการค้าขายกับอังกฤษมากขึ้น ถึงกับมีพ่อค้าอังกฤษเข้ามาตั้งร้านค้าในกรุงเทพฯ ชื่อ โรเบอร์ต ฮันเตอร์ ( Robert Hunter) ซึ่งเป็นพ่อค้าชาวตะวันตกคนแรกที่เข้ามาตั้งร้านค้าขึ้นภายในประเทศไทย ต่อมานายโรเบอร์ต ฮันเตอร์ ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวงอาวุธวิเศษ คนไทยนิยมเรียกว่า “นายหันแตร”
เริ่มสมัยรัชกาลที่ 3 อังกฤษทำสงครามกับพม่า และได้ขอร้องให้ไทยยกกองทัพไปช่วยปราบพม่า แต่เกิดเหตุผิดใจกันไทยจึงยกทัพกลับหมด ต่อ ลอร์ด แอมเฮิร์สต์ (Lord Amgerst) ผู้สำเร็จราชการอังกฤษประจำอินเดียได้ ส่งร้อยเอก เฮนรี เบอร์นี (Henry Berney) เป็นทูตเข้ามาเจรจาขอทำสนธิสัญญากับไทย โดยมีจุดมุ่งหมาย ดังนี้
1. เพื่อขอให้ไทยส่งกองทัพไปช่วยอังกฤษรบพม่า
2. เพื่อต้องการตกลงเรื่องเมืองไทรบุรีและหัวเมืองมลายู
3. เพื่อชักชวนให้ไทยยอมทำสนธิสัญญาทางการค้ากับอังกฤษ
4. เพื่อสัมพันธไมตรีอันดีระหว่างไทยกับอังกฤษ
สนธิสัญญาฉบับนี้ได้ทำเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2369 เป็นสนธิสัญญาโดยสมบูรณ์ฉบับแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นสนธิสัญญาทางพระราชไมตรี เรียกว่า “สนธิสัญญาเบอร์นี มีสาระสำคัญ ดังนี้
1. ไทยกับอังกฤษจะมีไมตรีอันดีต่อกัน ไม่คิดร้ายหรือรุกรานดินแดนซึ่งกันและกัน
2. เมื่อเกิดคดีความขึ้นภายในอาณาเขตประเทศไทย ก็ให้ไทยตัดสินตามกฎหมายและขนบธรรมเนียมและประเพณีของไทย
3. ทั้งสองฝ่ายจะอำนวยความสะดวกในด้านการค้าซึ่งกันและกัน และอนุญาตให้ฝ่ายตรงข้ามเช่าที่ดินเพื่อตั้งโรงสินค้า ร้านค้า หรือบ้านเรือนได้
4. อังกฤษยอมรับว่าดินแดนไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู เประ เป็นของไทย
ส่วนสนธิสัญญาฉบับที่ 2 เป็นสนธิสัญญาทางการค้า มีสาระสำคัญ ดังนี้
1. ห้ามนำฝิ่นเข้ามาขายในไทย และห้ามนำข้าวสาร ข้าวเปลือกออกนอกประเทศไทย
2. อาวุธและกระสุนดินดำที่อังกฤษนำมาต้องขายให้แก่รัฐแต่ผู้เดียว ถ้ารัฐไม่ต้องการต้องนำออกไป
3. เรือสินค้าที่เข้ามาต้องเสียภาษีเบิกร่องหรือภาษีปากเรือ
4. อนุญาตให้พ่อค้าอังกฤษค้าขายโดยเสรี
5. ถ้าพ่อค้าหรือคนในบังคับอังกฤษ พูดจากดูหมิ่นหรือไม่เคารพขุนนางไทย อาจถูกขับไล่ออกจากไทยได้ทันที
ผลของสนธิสัญญาทั้ง 2 ฉบับนี้ ทำให้ไทยกับอังกฤษมีความผูกมัดซึ่งกันและกัน มีความเท่าเทียมกัน ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบกัน
ต่อมาอังกฤษต้องการได้ สิทธิภาพนอกอาณาเขต เหนือดินแดนไทย ลอร์ด ปาเมอร์สตัน (Lord Palmerston)รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ จึงส่งเซอร์ เจมส์ บรุค (James Brooke) เป็นทูตมาขอแก้ไขสนธิสัญญากับไทย พ.ศ.2393 โดยขอลดภาษีปากเรือ ขอตั้งสถานกงสุลในไทย ขอนำฝิ่นเข้ามาขาย และขอนำข้าวออกไปขายนอกประเทศ แต่ขณะนั้นรัชกาลที่ 3 กำลังทรงพระประชวร จึงไม่มีโอกาสได้เข้าเฝ้า
2.3 สหรัฐอเมริกา พ.ศ.2364 สมัยรัชกาลที่ 2 พ่อค้าอเมริกาชื่อ กัปตันแฮน (Captain Han) เดินทางเข้ามาค้าขายที่กรุงเทพฯ เป็นชาวอเมริกันคนแรกที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทย และได้นำปืนคาบศิลามาถวายแด่รัชกาลที่ 2 จำนวน 500 กระบอก รัชกาลที่ 2 จึงพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็น หลวงภักดีราช หรือหลวงภักดีราชกปิตัน และได้พระราชทานสิ่งของให้คุ้มค่ากับราคาปืนทั้งหมด ทั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้งดเว้นการเก็บภาษีจังกอบอีกด้วย
สมัยรัชกาลที่ 3 ประธานาธิบดีแอนดรูว์ แจคสัน (Andrew Jackson) ได้ส่ง นายเอ็ดมันด์ โรเบอร์ต (Edmund Robert) คนไทยเรียกว่า “เอมินราบัด” เป็นทูตเดินทางเข้ามาขอทำสนธิสัญญาการค้ากับไทย ซึ่งมีใจความทำนองเดียวกับที่ไทยทำกับอังกฤษ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2375 และ พ.ศ.2393 รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ส่ง นายโจเซฟ บัลเลสเตียร์ ((Joseph Balestier) เข้ามาขอแก้สนธิสัญญาฉบับเก่า แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น